สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี เตือน!!ผู้ปกครอง ปิดเทอมฤดูร้อนดูแลเด็ก ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ

        สคร.6 ชลบุรี เตือน!!ผู้ปกครอง ปิดเทอมฤดูร้อนดูแลเด็ก ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ

          ใกล้ช่วงฤดูร้อน และปิดเทอม ผู้ปกครองนิยมพาเด็กๆ ไปเที่ยวพักผ่อนภูเขา น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีแหล่งน้ำ หรือสระว่ายน้ำ ครอบครัวกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเอง สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำจึงควรมีการกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย หรือบางกรณีพบว่าผู้ใหญ่ลงน้ำหาปลาหรือทำกิจกรรมทางน้ำ มักพาเด็กไปด้วยและปล่อยให้เล่นน้ำหรืออยู่ตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบสระหรือบริเวณขอบแหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นและพลัดตกลงไปในน้ำได้ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาจเสี่ยงที่จะจมน้ำเสียชีวิตได้แม้ระดับน้ำลึกเพียง 2-3 นิ้ว

         จากข้อมูลกองป้องกันการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ปี พ.ศ. 2564 เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต จำนวน 658 คน     เฉลี่ยวันละ 2 คน สถานการณ์เด็กจมน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ปี พ.ศ. 2564  มีเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ย สัปดาห์ละ 1-2 คน     (67 คน) ปัจจัยเสี่ยงการจมน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกในเขตสุขภาพที่ 6  ช่วง 3 ปี (พ.ศ.2562-2564)  พบว่า เด็กชายจะจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า จมน้ำมากในกลุ่มเด็กเล็กอนุบาลและประถมต้น  (อายุ 3-9 ปี) ช่วงเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เป็นช่วงปิดเทอมฤดูร้อน (เมษายน) และฤดูฝน (ตุลาคม) หล่งน้ำที่เด็กจมน้ำและเสียชีวิตมากที่สุด คือ บ่อน้ำ/คลอง  

        วิธีการป้องกันเด็กจมน้ำ สำหรับผู้ปกครอง ชุมชน และแหล่งน้ำ        

      พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ เพราะอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำได้ การเล่นน้ำให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่า 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงจากการเล่นน้ำให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้ ชุมชนร่วมกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในพื้นที่ และจัดการให้เกิดความปลอดภัย โดยให้มีการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ไม้ และนกหวีด แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ เป็นต้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้สวมใส่ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ กำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าถึงได้ง่าย ติดป้ายแจ้งเตือน และป้ายบอกความลึกของน้ำสระว่ายน้ำ ต้องมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อผู้รับบริการ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ป้ายบอกความลึกของน้ำ ป้ายบอกกฎระเบียบความปลอดภัยทางน้ำ และมีรั้วล้อมรอบสระว่ายน้ำทั้ง 4 ด้าน

                               การป้องกันการจมน้ำในเด็กเล็ก ๆ  “ต้องหมั่นสอนเด็กๆ ว่า อย่าใกล้ อย่าเก็บ และอย่าก้ม”

     อย่าใกล้ เมื่อเจอแหล่งน้ำ อย่าเข้าไปใกล้ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ  อย่าเก็บ เมื่อเห็นสิ่งของตกลงไปในน้ำอย่าเก็บเอง ต้องให้ผู้ใหญ่  ช่วยเก็บให้ อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจจะหัวทิ่มลงไปในในภาชนะ

ที่สำคัญ ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตาแม้เพียงชั่วขณะ เช่น ขณะทำงานบ้าน คุยโทรศัพท์ เปิด ปิดประตูบ้าน เป็นต้น รวมไปถึงการจัดการแหล่งน้ำ เช่น การเทน้ำในถัง ในกะละมัง ทิ้งหลังจากใช้งาน ปิดฝาตุ่มน้ำ ถังน้ำ ที่บรรจุน้ำไว้ ล้อมรั้วบ่อน้ำ สร้างประตูกั้น และกำหนดพื้นที่เล่นให้เด็กเพื่อไม่ให้เด็กออกไปในจุดอันตรายต่าง ๆ

       การป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กโต ควรสอนเด็กให้รู้ความเสี่ยงของการวิ่งหรือเล่นใกล้แหล่งน้ำให้รู้จักความเสี่ยงของแหล่งน้ำ สอนเด็กว่ายน้ำหรือใช้ชูชีพในการเล่นน้ำสอนเด็กให้ใช้ชูชีพเมื่อเดินทางทางน้ำ และเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด เด็กต้องมีทักษะการเหลือตนเองและผู้อื่นๆได้ ด้วยหลักการ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน ขอความช่วยเหลือเมื่อพบเห็นคนตกน้ำจมน้ำ โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าที่ลอยน้ำได้ โยนครั้งละหลายๆ ชิ้น ยื่น ยื่น สิ่งของยาวๆ ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ท่อนไม้ เข็มขัด ผ้าขาวม้า และดึงตัว     เข้าหาฝั่งขึ้นมาจากน้ำ ไม่ควรกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น  เพราะอาจถูกดึงให้จมน้ำ เสียชีวิตได้

อ้างอิงข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อ สคร.6 ชลบุรี


ข่าวสารอื่นๆ