สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี แนะวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

สคร.6 ชลบุรี แนะวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

             โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือกามโรค คือ โรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนป่วยที่มีเชื้อก่อโรค ลักษณะ และอาการของแต่ละโรคมีความแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ช่องทางการติดเชื้อมี 3 ช่องทาง คือ 1) จากการมีเพศสัมพันธ์ 2) ติดเชื้อจากแม่สู่ลูก 3) ติดจากทางเลือด เช่น การเปลี่ยนถ่ายเลือด พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ คือ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และมีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ

                 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมาก หลักๆ มี 5 โรค ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคต่อมน้ำเหลือง นอกจาก 5 โรคนี้ ยังมีโรคอื่นๆ เช่น เริมอวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เชื้อราช่องคลอด พยาธิช่องคลอด โลน และหิด เป็นต้น          

                  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์  ทางเลือด หรือจากแม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไม่ได้รับการรักษาทำให้ถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ โดย 40% ของเด็กที่ติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิดจะเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือแรกคลอด  แต่หากเด็กรอดจะมีความพิการทางร่างกาย และสติปัญญา เช่น ตับม้ามโต ตัวเหลือง ฝ่ามือฝ่าเท้าพองและลอก กระดูกผิดรูป ตาบอด หูหนวก และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เมื่อได้รับเชื้อในช่วงแรกอาจจะพบแผลที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นแผลจะหายได้เอง และจะมีผื่นตามร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่อวัยวะเพศ อาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ได้ โดยผู้ติดเชื้อบางรายอาจจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อนั้นจะอยู่ในร่างกายถ้าไม่ได้รับการรักษา เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติที่สมอง และระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต ผู้ป่วยจะทราบว่าตนเองติดเชื้อได้ต่อเมื่อมีการไปตรวจเลือด เช่น การตรวจเลือดเพื่อบริจาคเลือด หรือการตรวจคัดกรองในระยะฝากครรภ์ ดังนั้น ผู้มีที่พฤติกรรมเสี่ยงควรมีการตรวจเลือดประจำปีทุกปี เพื่อให้รู้สถานะของตนเอง

                  สถานการณ์การติดเชื้อซิฟิลิสในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 มีผู้ป่วยซิฟิลิสมากที่สุดในประเทศ ในปี 2565 มีผู้ป่วยซิฟิลิสจำนวน 2,731 ราย      โดยเพิ่มจากปี 2564 ประมาณ 800 ราย (รายงาน 506 กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 19 มกราคม 2566) ผู้ป่วยเกือบครึ่ง (ประมาณ 1,100 ราย) เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี นอกจากนี้ยังพบทารกที่ติดเชื้อจากแม่ จำนวน 30-40 ราย/ปี โดยในปี 2565 พบทารกเสียชีวิตในครรภ์ และแรกคลอด     จำนวน 7 ราย จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงสัญญาณเตือนของการมีเพศสัมพันธ์ ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวอาจนำไปสู่     การติดเชื้อเอชไอวีได้

                จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยที่ลดลง จากการสำรวจการใช้ถุงยางอนามัยของกลุ่มเยาวชนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562  โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ความครอบคลุมของการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์ เท่ากับ      70-80%  ซึ่งไม่เพียงพอในการป้องกันโรค จึงอาจเป็นสาเหตุหลักของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ป้องกันการ ติดเชื้อที่สำคัญ

              โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรคสามารถรักษาและป้องกันได้ โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ในทุกช่องทางกับทุกคน และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยง หรือมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือซื้อยากินเอง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง หญิงตั้งครรภ์และคู่ควรได้รับการคัดกรองและหากมีผลเลือดผิดปกติควรเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการถ่ายทอดเชื้อสู่ลูก

 

อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์พัทยารักษ์ สคร.6 ชลบุรี


ข่าวสารอื่นๆ