สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เร่งติดตามกรณีพบผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง หลังจากปาร์ตี้โฟม ที่จังหวัดสุพรรณบุรี คาดติดเชื้อ ‘ไวรัสโรต้า”

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ติดตามกรณีพบผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง หลังจากปาร์ตี้โฟม ที่จังหวัดสุพรรณบุรี คาดติดเชื้อ ‘ไวรัสโรต้า”โดยให้ประสานข้อมูลและลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

           วันนี้ (22 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีพบเด็กที่ไปเล่นปาร์ตี้โฟมในงานสงกรานต์ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาในวันที่ 17 เม.ย. 67 พบว่า
เด็กเข้ารับการรักษาอาการ ถ่ายท้อง ท้องเสีย เวียนหัว ไข้สูง อาเจียน และมีผื่นขึ้นตามตัวหลายราย กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.ราชบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรค ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี วมกับสยเล่นปารร้อง และหน่วยงานในพื้นที่ จากผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบเด็กเข้ารับการรักษา รวม 65 ราย และผลตรวจอุจจาระในผู้ป่วยเด็ก พบว่าเป็นการติดเชื้อ “ไวรัสโรต้า” ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ซึ่งอาจติดมากับมือ อุจจาระ หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอาเจียน ร้อยละ 93.33 รองลงมา ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว และปวดท้อง ตามลำดับ

          โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วย ละอองในอากาศ น้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และอาจแพร่เชื้อผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อน เช่น ที่จับประตู ก๊อกน้ำ ที่นั่งชักโครก ของเล่น เป็นต้น และไวรัสนี้สามารถคงทนอยู่ในอากาศเย็นและสิ่งแวดล้อมได้นานจึงสามารถติดต่อได้ง่าย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ บางรายอาจมีอาการรุนแรงจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เช่น ปากแห้ง ถ่ายปัสสาวะลดลง จนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับการดูแลตนเองเบื้องต้น หากอาการไม่รุนแรงให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) จิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียจากการอาเจียนและถ่ายเหลว กรณีอาเจียนมากให้ทานยาแก้อาเจียน หรือกรณีมีไข้ให้ทานยาลดไข้

          วิธีการลดความเสี่ยงป่วยและป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก รวมถึงการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาดของวัตถุดิบ ภาชนะ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และสุขลักษณะส่วนบุคคล จัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภค เลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.ราชบุรี/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 22 เมษายน 2567


ข่าวสารอื่นๆ