กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

สคร.7 เผยในปีนี้พบผู้ป่วย “โรคฉี่หนู” เสียชีวิตแล้ว 13 ราย กลุ่มเสี่ยงยังต้องระวัง !!

 

สคร.7  เผยในปีนี้พบป่วย “โรคฉี่หนู” เสียชีวิตแล้ว 13 ราย กลุ่มเสี่ยงยังต้องระวัง!!  

 

เข้าสู่เดือนกันยายน เดือนปลายฝนต้นหนาว ช่วงนี้พายุพัดผ่านเข้ามาประเทศไทย เกิดฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่   เกิดความชื้นแฉะ  ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ  ที่สำคัญคือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู ที่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปร่า (Leptospira) เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ ได้แก่ หนู สุนัข หมู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ  แต่พบมากในหนู สถานการณ์ในประเทศปีนี้พบผู้ป่วย 907 รายเสียชีวิตแล้ว 13 ราย

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยจากข้อมูลจากกองระบาดวิทยา   กรมควบคุมโรค   ถึงสถานการณ์ของ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 กันยายน2563  ว่าพบผู้ป่วยทั่วประเทศ  907 ราย เสียชีวิต 13 ราย ส่วนสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 7 (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) พบผู้ป่วย 51 ราย  มีผู้เสียชีวิต 1  ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง  โดยพบเพศชาย 38  ราย  เพศหญิง 13  ราย  จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดมหาสารคาม รองลงมาคือจังหวัดกาฬสินธุ์   ซึ่งเชื้อก่อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสเชื้อที่ถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ และปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อม  อยู่ตามน้ำ พื้นดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และเยื่อบุปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน คนมักติดเชื้อโดยอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมหรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ  เชื้ออาจเข้าร่างกายโดยการกินอาหารหรือน้ำที่อาจปนเปื้อนมาจากพืชผักธรรมชาติ หรือพืชผักที่ปลูกไว้ หรือแม้กระทั่งภาชนะบรรจุอาหารที่ปนเปื้อน  หลังได้รับเชื้อแล้ว จะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในช่วง 4 -19 วัน  อาการสำคัญ คือ ไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง ภาวะเยื่อบุตาบวมแดง บางรายมีผื่น และอาการตัวเหลืองร่วมด้วย

“การป้องกันสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องสัมผัส แหล่งน้ำขัง  หรือ ดิน โคลนที่ชื้นแฉะ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกันและรีบทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากเสร็จภารกิจ ส่วนผู้ที่มีบาดแผลไม่ควรลงแช่ในน้ำหรือลุยโคลนเด็ดขาด และหากมีประวัติความเสี่ยงภายใน 1 สัปดาห์ แล้วมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อน่อง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้” นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร กล่าว.

 

 

 

 

 

ที่มา กองระบาดวิทยา สคร.7ขอนแก่น

รวบรวม / เผยแพร่ : นางสาวสุภัทรา พิมหานาม จพ.สาธารณสุขชำนาญงาน

: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น

หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๒๔

https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php  

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ