สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ สงกรานต์นี้ สคร.9 ขอเชิญชวน "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" กลับถึงบ้านปลอดภัย

         เทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน ทำให้มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และไปท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดมากขึ้น ส่งผลให้การจราจรหนาแน่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มาจากการดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ขับรถด้วยความประมาท เป็นต้น สคร.9 นครราชสีมา ห่วงใยประชาชน เตือนสงกรานต์นี้ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ว่า กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยถนน (ศปถ.) ได้ดำเนินงานเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11- 17 เมษายน 2567 รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำแนวคิด ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

         จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 2,578 ราย มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล (admit) จำนวน 683 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 35 ราย สามารถแยกเป็นรายจังหวัดได้ ดังนี้ 1) จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดคือ จ.นครราชสีมา มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล (admit) 235 ราย เสียชีวิต 13 ราย 2) รองลงมาคือ จ.บุรีรัมย์ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล (admit)  232 ราย เสียชีวิต 9 ราย 3) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล (admit) 91 ราย เสียชีวิต 7 ราย 4) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล (admit) 125 ราย เสียชีวิต 6 ราย

         จังหวัดนครราชสีมา พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด (แต่ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 48) และในส่วนจังหวัดชัยภูมิ พบผู้เสียชีวิต มากกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 75 อุบัติเหตุพบในเพศชายมากที่สุด ร้อยละ 67.66 และพบในกลุ่มอายุ 10-19 ปี ร้อยละ 30.42 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากยานพาหนะ โดยเป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.46 ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 63.16, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 41.04  และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.21 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตมากที่สุดคือ 21.00 – 00.00 น. อันดับ 1 ของการบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นถนนกรมทางหลวง รองลงมาคือ ถนนใน อบต./ชุมชน และยังพบว่าการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับส่วนใหญ่เป็นการล้มเอง และเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี ที่ดื่มแล้วขับแล้วล้มเองเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” รวมถึงห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่มและห้ามขาย เช่น วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานที่บริการสาธารณสุขของรัฐ สถานที่ราชการ สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน รวมถึงผู้ประกอบการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 น. - 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น. - 24.00 น. หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขายให้แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร 0 2590 3342 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422          

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ