สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

อีสานร้อนจัด เสี่ยงลมแดดเสียชีวิต แนะดื่มน้ำบ่อยๆ ผู้มีโรคประจำตัวเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

         จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนทำให้ช่วงนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดนั้น สคร.9 นครราชสีมา ห่วงใยประชาชน เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน บางวันมีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียล ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) โรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อน หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคลมแดดหรือ โรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ว่าจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคลมแดด โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร ผู้เลี้ยงโค กระบือกลางแจ้ง คนงานก่อสร้าง ผู้ส่งอาหาร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.ผู้ที่มีภาวะอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้นทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ 

         สถานการณ์โรคลมแดดในเขตสุขภาพที่ 9 ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 30 ราย ส่วนสถานการณ์โรคลมแดดในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 รายที่จังหวัดชัยภูมิ สาเหตุเกิดจากโรคประจำตัวคือ โรคความดันโลหิตสูง และดื่มสุรา

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี 2.อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 3.หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ 4.สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง 5.ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย 6.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ 7.อย่าทิ้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้ 1.นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก 2.เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 3.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ 4.ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย 5.รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ