โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) เกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นอาการที่พบได้ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้หลายพื้นที่มีอากาศร้อนอบอ้าว มีค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงขึ้น และอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นอาการเสี่ยงต่อผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในสถานที่ที่มีแดดจัด หรือมีอากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจโรคความดันโลหิตสูง โรคปอด เป็นต้น อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน
แพทย์หญิงลานทิพย์ เหราบัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) โดยสถานการณ์ประเทศโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) ข้อมูลผู้เสียชีวิตย้อนหลัง 5 ปี ภาพรวมประเทศสะสม จำนวน 127 ราย (เฝ้าระวัง ปี 2563 – 2567) (ข้อมูล:กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) ปีที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ปี 2567 จำนวน 63 ราย รองลงมาปี 2566 จำนวน 37 ราย ปี 2563 จำนวน 12 ราย ปี 2565 จำนวน 8 ราย และปี 2564 จำนวน 7 ราย โดยพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 หรือภาคตะวันออก จังหวัดที่พบผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี จำนวน 9 ราย รองลงมา ปราจีนบุรี 6 ราย และสมุทรปราการ 5 ราย ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) พื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 หรือภาคตะวันออก ในปี 2567 พบผู้เจ็บป่วย 9 ราย ผู้เสียชีวิต 4 ราย พบว่าเป็นเพศชาย 4 ราย อายุระหว่าง 41-60 ปีขึ้นไป อาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง รปภ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับ แรก ได้แก่ ปราจีนบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ เดือนที่พบเหตุสูงสุด เมษายน วันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงสุดเกิน 40°C ได้แก่ วันที่ 29 เมษายน 2567 ปัจจัยจากโรคประจำตัวร่วม พฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุรา เสียชีวิตกลางแจ้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 2568)
โรคฮีทสโตรก ส่งผลกระทบต่อร่างกาย พบอาการดังนี้ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม หรือเกิดอาการชัก พูดจาสับสนไม่รู้เรื่อง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอาการฮีทสโตรก 1.รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือที่ที่มีอากาศถ่ายเท จัดร่างกายให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าออกให้พอหลวม 2.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามร่างกาย ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน 3.หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ 4.รีบนำผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1669 ทันที
แพทย์หญิงลานทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราสามารถป้องกันโรคฮีทสโตรกได้ง่ายๆ โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้ 1.ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ 2.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงใส่เสื้อ ผ้าสีทึบดํา เพราะจะสะสมความร้อนได้ 3.ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติ จะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน 4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป หรือในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6.ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะรถอาจมีอุณหภูมิสูงข้ึนภายใน 10-20 นาที หากปิดเครื่องปรับอากาศ
อ้างอิงข้อมูล : ข้อมูลการเฝ้าระวังเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อน (Hot Weather related Deaths Surveillance) กองระบาดวิทยา , กลุ่มโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม สคร.6