สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

“เห็ด” ไม่รู้จัก ไม่เก็บกิน

  “เห็ด” ไม่รู้จัก ไม่เก็บกิน

          ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งมักพบได้บริเวณพื้นที่สวน พื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ  เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ เห็ดที่ขึ้นในป่า มีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้หรือเห็ดพิษ และเมื่อกินเห็ดพิษเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษไม่ควรนำมาปรุงอาหาร          

         สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 53 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 : จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 (ภาคตะวันออก) ปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต (ผู้ป่วยซื้อเห็ดจากตลาดในชุมชนมาปรุงประกอบอาหาร)  เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น “ไม่ซื้อเห็ดจากตลาดในชุมชนที่ไม่รู้จักชนิด และ ไม่เก็บ เห็ด ที่ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ มาปรุงประกอบอาหาร”

        เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด ตัวอย่างเช่น 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้

      ***ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษ มีตั้งแต่เร็วเป็นนาที ถึงหลายชั่วโมง อาการของผู้ป่วยแตกต่างกัน เช่น วิงเวียน อาเจียน  ปวดท้อง ถ่ายเหลว บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

      ***หากมีอาการผิดปกติหลังกินเห็ด ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ด และนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือ หรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย และควรแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีผงถ่านคาร์บอน สามารถรับประทานเพื่อช่วยดูดซับพิษ จิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป และไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจสำลักติดเชื้อจากไข่ขาวดิบที่ปนเปื้อน เกิดบาดแผลในคอและช่องปาก ความดันต่ำ หรือระดับเกลือแร่ผิดปกติจากการอาเจียนที่มากไป

      ***วิธีที่ผิด!! ในการทดสอบความเป็นพิษของเห็ด ห้ามทำตาม!!

- นำมาล้างน้ำผสมเมล็ดข้าวสาร หากเมล็ดข้าวสารไม่เปลี่ยนสีถือว่าเป็นเห็ดที่กินได้ แต่ถ้าเมล็ดข้าวสารเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง จะเป็นเห็ดที่มีพิษกินไม่ได้

- ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี

- จุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำ

***ทั้งนี้ วิธีการเหล่านี้เป็นความเชื่อ ไม่สามารถใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ดได้ เห็ดบางชนิดโดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ หากพบ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต  

 

ข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อ สคร.6                                     


ข่าวสารอื่นๆ