กรมควบคุมโรคเผยข้อมูลน่าเศร้า โดยช่วงฤดูร้อนปี 2558 - 2567 คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเฉลี่ย 3,687 คน/ปี เฉลี่ยวันละ 10 คน โดยช่วงฤดูร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) มีคนจมน้ำเฉลี่ย 963 คน เดือนเมษายนมีจำนวนสูงที่สุด (327 คน) กลุ่มอายุที่เสียชีวิตสูงสุด คือ 45 - 59 ปี (84 คน) รองลงมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (70 คน) รองลงมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (70 คน) สาเหตุเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด รองลงมา คือ ประกอบอาชีพหาปลา หาหอย เก็บผัก แหล่งน้ำที่มีการจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รองลงมา คือ เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งมีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนลงน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เกือบทั้งหมดของคนที่จมน้ำไม่สวมเสื้อชูชีพ แนะประชาชน สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ ปฏิบัติตามป้ายเตือน งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออยูใกล้แหล่งน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
ดร.นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) พบการเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี2563-2567) ทั้งหมด 292 ราย พบว่าจังหวัดขอนแก่นมีผู้เสียชีวิตสูงสุด 121 ราย รองลงมาคือร้อยเอ็ด 84 ราย กาฬสินธุ์ 45 ราย และมหาสารคาม 42 ราย โดยพบเพศชายมีสัดส่วนสูงกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากแหล่งน้ำทางการเกษตร หนองน้ำรอบชุมชน แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น หนองน้ำและคลองรอบชุมชน ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้ยังไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย
เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอย หน่วยงานต่างๆ ได้รณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมสร้างความปลอดภัยทางน้ำ เช่น การสร้างรั้วรอบแหล่งน้ำเสี่ยง ติดตั้งป้ายเตือน จัดหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ไม้ไผ่ เชือก ท่อPVC แกลลอนพลาสติกมีฝาปิด พร้อมย้ำวิธีช่วยเหลือกรณีพบคนตกน้ำด้วยหลัก "ตะโกน โยน ยื่น" สำหรับประชาชนทุกคนควรใช้เทคนิคป้องกันการจมน้ำ คือ #ชูชีพ #กฎ #งดดื่ม” นั่นคือหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมทางน้ำ ต้องสวมเสื้อชูชีพ ปฏิบัติตามป้ายเตือนความปลอดภัย และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณแหล่งน้ำ
นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป 1)เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 2)ฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 3)ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR) เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการจมน้ำ โดยสามารถดาวน์โหลดสื่อการเรียนรู้ได้ที่เว็บไซต์กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค
ผู้ปกครองให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องอยู่ในระยะที่มือคว้าถึง รวมถึงควรจัดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย (playpen) สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และให้ทุกคนสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำ
สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีมีคนจมน้ำ หากไม่หายใจ ให้ตรวจดูการอุดกั้นในปากและจมูก จากนั้นรีบเป่าปากช่วยหายใจทันที และทำการนวดหัวใจในอัตราส่วน 30:2 (ปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง เป่าปาก 2 ครั้ง) อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาถึง ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
............................................................................
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ / กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สคร.7 ขอนแก่น
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จ.ขอนแก่น
หมายเลข 043 222818-9 ต่อ 237