สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น เตือนประชาชน! ห้ามบริโภคหรือสัมผัสเนื้อวัว – ควาย ที่ตายผิดปกติ เสี่ยงโรคอันตรายถึงชีวิต

 

แพทย์ออกคำเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อวัวหรือควายที่ตายผิดปกติ โดยเน้นย้ำว่า ห้ามสัมผัส ห้ามชำแหละ และห้ามนำมาประกอบอาหารเด็ดขาด เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์มาสู่คนได้

ดร.นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า “ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดมักเกิดความเครียดสะสมในสัตว์ อาจพบเหตุการณ์วัว-ควาย ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้ อาจเกิดจากโรคระบาดในสัตว์ เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง หากมีการสัมผัสกับเลือด เนื้อ หรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ” สำหรับสถานการณ์โรคในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,กาฬสินธุ์,มหาสารคาม) ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จึงขอความร่วมมือดังนี้:

ห้ามสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่ตายผิดปกติ

ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบหรือรับรองจากเจ้าหน้าที่

หากพบสัตว์ตายผิดปกติในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที 

ดร.นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า         แอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบมากในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสามารถแพร่เชื้อสู่คนผ่านทางการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ หากติดเชื้อในคน อาจแสดงอาการได้ 3 รูปแบบ ตามช่องทางของการรับเชื้อ ได้แก่:

- แอนแทรกซ์ทางผิวหนัง – พบบ่อยที่สุด

  • เริ่มจากตุ่มแดงนูน มีอาการคัน กลายเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นแผลดำตรงกลาง
  • มักเกิดบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น มือ แขน ใบหน้า

- แอนแทรกซ์ทาง ทางเดินอาหาร – จากการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ

  • มีไข้สูง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด
  • อาจทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารบวม และติดเชื้อในกระแสเลือดได้

- แอนแทรกซ์ทางระบบหายใจ – พบน้อยแต่รุนแรง

  • มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
  • เป็นภาวะอันตราย อาจเสียชีวิตภายในเวลาอันสั้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนร่วมมือเฝ้าระวังและรายงานเหตุการณ์สัตว์ล้มตายอย่างผิดปกติ และช่วยกันแจ้งเหตุเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอันตรายดังกล่าว หากสงสัยว่าอาจติดเชื้อแอนแทรกซ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

******************************

 ที่มา : คู่มือเวชปฏิบัติสำหรับแพทย์ (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ชื่อ: แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย , กลุ่มโรคติดต่อ สคร.7 ขอนแก่น

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.7 ขอนแก่น

วันที่ : วันที่ 1 พฤษภาคม 68


ข่าวสารอื่นๆ