ในช่วงนี้หลายโรงเรียนเริ่มใกล้ปิดเทอมแล้ว มีเด็กหลายคนหยุดอยู่บ้าน ไม่มีผู้ดูแล อาจจะหลบหนีผู้ปกครองไปเล่นน้ำคลายร้อน ตามแหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง ฝายกักเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำหรับเด็กเล็ก ให้ยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนเด็กโต ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” ป้องกันการตกน้ำและจมน้ำเสียชีวิต
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ว่า ในช่วงนี้หลายโรงเรียนใกล้ปิดภาคเรียนแล้วสิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเด็กนักเรียนหยุดอยู่บ้าน อาจไม่มีผู้ดูแลเด็กเหมือนกับช่วงที่ไปโรงเรียน อาจชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเกิดพลัดตก ลื่น หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ ฝากเตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง เพราะหากคลาดสายตาจากเด็กเพียงเสี้ยววินาที เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี ของประเทศไทย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565) พบคนไทยจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3,634 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 700 คน หรือวันละ 2 คน กิจกรรมก่อนเกิดเหตุของการจมน้ำที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำ (ร้อยละ 57) รองลงมาคือ การพลัดตกลื่น (ร้อยละ 29)
ส่วนสถานการณ์การตกน้ำ จมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในเขตสุขภาพสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้จมน้ำเสียชีวิต รวม 360 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตรวม 96 รายจังหวัดสุรินทร์ มีผู้เสียชีวิตรวม 97 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้เสียชีวิตรวม 46 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้เสียชีวิตรวม 121 ราย
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า แนวทางการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก และกลุ่มเด็กโต มีดังนี้ สำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เราเน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ดังนี้ 1.อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 2.อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3.อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้
ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย และอาจจมน้ำ และเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกน: คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง 2.โยน: คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ 3.ยื่น: คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422