วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ สคร.9 นครราชสีมา มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ มีปัญหาการทรงตัว เดินเซ เคลื่อนไหวลำบาก การรับรู้ที่ช้าลง การมีโรคประจำตัว เป็นต้น การพลัดตกหกล้มสามารถป้องกันได้ด้วยหลัก รู้ ปรับ ขยับเพิ่ม เพื่อดูแลผู้สูงอายุจากการพลัดตกหกล้ม
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่นับวันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนและอายุขัยของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทยพบว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีการหกล้มทุกปี สถานที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในบ้านร้อยละ 65.0 และในห้องน้ำ ร้อยละ 30.0 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 61.0 และยังพบว่า ผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีราวเกาะในห้องน้ำและใช้ส้วมนั่งยอง สูงถึงร้อยละ 80.0 เมื่อผู้สูงอายุเกิดพลัดตกหกล้ม จะทำให้มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น พิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต สูญเสียคุณภาพชีวิต หรือเสียชีวิตได้ นอกจากอาการบาดเจ็บทางด้านร่างกายแล้ว การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุยังส่งผลกระทบด้านจิตใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยหกล้มไปแล้ว จะยิ่งกลัวมากขึ้น กังวลและขาดความมั่นใจที่จะเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย จนเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่ 13 เมษายน จึงขอให้ลูกหลานให้ความสำคัญ และดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการใช้แนวคิด รู้ ปรับ ขยับเพิ่ม คือ
1.รู้: รู้ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน คือ รู้สมรรถภาพของตัวเอง เช่น สายตา การทรงตัว การเดิน ด้วยการเข้ารับการประเมินความเสี่ยงที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเป็นประจำทุกปี รู้ปัจจัยรอบตัว เช่น พื้นลื่น ห้องน้ำไม่มีราวจับ สิ่งกีดขวาง รวมถึงการแต่งกายและเลือกสวมรองเท้าที่ปลอดภัยไม่ทำให้สะดุดและลื่นล้มได้ง่ายหากพบความเสี่ยงให้ทำการ “ปรับ” ทันที
2. ปรับ: ปรับ แก้ไข ห่างไกลความเสี่ยง คือ ปรับสภาพบ้านให้น่าอยู่และปลอดภัย เช่น ติดราวจับ ใช้แผ่นกันลื่น เลือกสวมรองเท้าที่ไม่ทำให้สะดุดและลื่นได้ง่าย ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ปรึกษาแพทย์หากใช้ยาหลายชนิด เพราะอาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ใช้ชีวิตแบบ Active มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยการ “ขยับเพิ่ม”
3. ขยับเพิ่ม: ขยับร่างกาย ออกกำลังกาย ฝึกสมดุล โดย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 15 - 30 นาที หรือ เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ฝึกออกแรงต้าน เช่น ยกน้ำหนัก ใช้ยางยืด ฝึกการทรงตัว ยืดเหยียดร่างกาย และหากพบเห็นผู้สูงอายุหกล้ม ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บกรณีเกิดเหตุและพบอวัยวะผิดรูปหรือเจ็บขยับไม่ได้ ให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที
เนื่องในเทศกาลสงกรานต์นี้ อีกทั้งยังเป็นวันผู้สูงอายุอีกด้วย จึงขอให้ลูกหลานดูแลสุขภาพและใส่ใจผู้สูงอายุ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี อยู่เป็นที่พึ่งให้แก่ลูกหลานได้อย่างยาวนาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร