นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบใน สุนัข แมว โค และกระบือ
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายถึงแก่ชีวิต หากติดเชื้อนี้แล้วไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันจะต้องเสียชีวิตทุกราย
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 15 เมษายน 2568 พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ายืนยัน 4 ราย ที่จังหวัดชลบุรี ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรานครราชสีมา และมีผู้ป่วยเข้าข่าย 1 ราย ที่ จ.ตาก โดย 4 ราย ถูกสุนัขกัด อีก 1 ราย ถูกแมวกัด และไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค
ส่วนในเขตสุขภาพที่ 9 พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค 2567-25 เม.ย.2568 มีจำนวน 34 ตัวอย่าง อันดับแรกเป็นสุนัข 24 ตัวอย่าง รองลงมา คือ โค 8 ตัวอย่าง และกระบือ 2 ตัวอย่าง
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้ “คาถา 5 ย.” คือ
1. อย่าแหย่ - อย่าแหย่ให้สุนัขโกรธหรือโมโห
2. อย่าเหยียบ - อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้มันตกใจ
3. อย่าแยก - อย่าใช้มือเปล่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกัน
4. อย่าหยิบ - อย่าหยิบชามอาหารของสุนัขขณะกำลังกิน
5. อย่ายุ่ง - อย่ายุ่งกับสุนัขที่ไม่รู้จักหรืออยู่นอกบ้าน รวมถึงสุนัขที่ไม่ทราบประวัติ
นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเชื้อโรคหรือดื่มน้ำนมจากสัตว์ที่ติดโรคนี้ หากประชาชนถูกสุนัข กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เปิดให้ไหลผ่านบาดแผล ถูสบู่อย่างแผ่วเบาให้เข้าถึงรอยลึกของบาดแผล อย่างน้อย 15 นาที ทายาด้วยโพวิโดน-ไอโอดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบ ตรงตามวันนัด กักสัตว์เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตายให้ส่งสัตว์ตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์อยู่สูงถึงระดับที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
โดยในแต่ละปีจะมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารการบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ท่านอาศัยอยู่ หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
**กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี**
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร