สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชนอย่ากินเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และการชำแหละหรือสัมผัสสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ แกะ หากพบสัตว์ดังกล่าวแสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ไม่กินหญ้าแต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์ พร้อมเน้นย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากกรณีดังกล่าวอยู่ในการควบคุม ป้องกัน และสอบสวนโรคโดยเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสามารถก่อให้เกิดโรคได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แหล่งรังโรคหลักของเชื้อ คือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ สัมผัสสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติ และสามารถติดจากการหายใจเอาฝุ่นดินที่มีสปอร์เชื้อเข้าไป หลังได้รับเชื้อประมาณ 1 - 5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ หายใจขัด หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80
ส่วนในสัตว์ที่มักแสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติ ได้แก่ มีไข้สูง ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ไม่กินหญ้า แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีเลือดปนน้ำลายไหลออกมา ยืนโซเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก แล้วตายในที่สุด บางตัวอาจมีอาการบวมน้ำ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือบางตัวอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เพราะตายเร็วมาก เมื่อสัตว์ตายจะพบว่ามีเลือดออกทางปาก จมูก ทวารหนัก อวัยวะเพศ เป็นเลือดสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นคาวจัด ซากนิ่ม และเน่าเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ ห้ามชำแหละซากเอาเนื้อไปใช้เป็นอาหาร
จากกรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ 1 ราย ในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 53 ปี โรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน โดยเริ่มมีตุ่มแผลขึ้นบริเวณมือข้างขวา ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างขวาโต และมีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์สงสัยโรคแอนแทรกซ์ จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลพบเชื้อ Bacillus anthracis จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นคาดว่า ปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคในงานบุญผ้าป่า และมีการนำเนื้อโคที่ชําแหละไปแจกจ่ายให้รับประทานกันภายในหมู่บ้าน ขณะนี้ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับทีมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้นพบผู้สัมผัสจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่บริโภคเนื้อโคดิบ 219 คน ได้ให้ยาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการป้องกันการควบคุมโรคในพื้นที่
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากกรณีดังกล่าวอยู่ในการควบคุม ป้องกัน และสอบสวนโรคโดยเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา ซึ่งการป้องกันโรคแอนแทรกซ์ มีดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ 2. ล้างมือ ชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์ 3. เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย 4. หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที 5. หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร