กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพจิต เกิดอารมณ์แปรปรวน ควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ได้

       วันนี้ (21 เมษายน 2568) นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสข่าวในโซเชียลออนไลน์ เกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงขณะขับขี่รถ โดยผู้ก่อเหตุไม่มีโรคประจำตัวที่จะทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แต่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น เนื่องจากการได้รับสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมการให้ความสนใจ การเรียนรู้ อารมณ์ และพฤติกรรม ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน การควบคุมอารมณ์บกพร่อง หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอีกด้วย

       ด้านนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และรักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า ประชาชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรเลิกสูบเพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากการเสพติดนิโคตินเกิดผลเสียหลายด้าน ทั้งรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เจ็บป่วยเนื่องจากภาวะเสพติด และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1600 เพื่อรับคำปรึกษาเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่างๆ สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินคดี ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

**************************************

ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

วันที่ 21 เมษายน 2568

 

แหล่งข้อมูล

  • Centers for Disease Control and Prevention. E-cigarette use among youth [Internet]. Atlanta: U.S. Department of Health and Human Services; 2024 Oct 17 [cited 2025 Apr 19]. Available from: https://www.cdc.gov/tobacco/e-cigarettes/youth.html
  • Khambayat S, Jaiswal A, Prasad R, Wanjari MB, Sharma R, Yelne S. Vaping Among Adolescents: An Overview of E-Cigarette Use in Middle and High School Students in India. Cureus. 2023;15(5):e38972. doi:10.7759/cureus.38972.

 


ข่าวสารอื่นๆ