สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี แนะประชาชน ถูกสุนัข แมวข่วนกัด รีบล้างแผล และพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที “โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ทั้งปี”

 

สคร.6 ชลบุรี แนะประชาชน ถูกสุนัข แมวข่วนกัด รีบล้างแผล

และพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที  “โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ทั้งปี” 

 

           โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้พบแค่ในสุนัขเท่านั้น แต่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด สุนัข แมว วัว ลิง สัตว์ฟันแทะ เช่นหนู กระต่าย เป็นต้น เป็นโรคที่มีความรุนแรง ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย

         สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตยืนยันโรคพิษสุนัขบ้า ปี พ.ศ.2565 จำนวนทั้งสิ้น 3 ราย โดยพบในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 2 ราย  และปัจจุบันปี พ.ศ. 2566 พบผู้เสียชีวิตล่าสุด 3 ราย ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รายจังหวัด ปี 2566 (ข้อมูล วันที่ 1 มกราคม - 30 กันยายน 2566) พบผลบวกสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า มากที่สุดในพื้นที่จังหวัดระยอง รองลงมาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เสียชีวิตพบว่าเมื่อถูกสุนัข กัด ข่วน แล้วไม่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 50 ชองผู้เสียชีวิตถูกสุนัขของตนเองกัด และไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน เมื่อพบว่าป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จึงทำให้เสียชีวิตในที่สุด

        ลักษณะอาการเมื่อได้รับเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล โดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดติดเชื้อ หากได้รับเชื้อจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษา ให้หายได้ และเสียชีวิตทุกราย ***ที่สำคัญ พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันโรคไม่ถูกต้อง เมื่อถูกสุนัข/แมวกัด-ข่วน ไม่มีการล้างแผลและไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น จึงต้องสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเอง จากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค และอย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที

       สำหรับประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์ควรปฏิบัติอย่างไร ให้สัตว์ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

1. เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพังโดยไม่ใส่สายจูง 3. พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเพื่อจำกัดการเพิ่มจำนวนของสัตว์เลี้ยง 4. หากพบว่าสุนัข แมว เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ 5.หากพบเห็นสุนัขจรจัด สามารถแจ้งอบต. หรือเทศบาลใกล้บ้าน

     วิธี หรือเทคนิค การลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัด หรือทำร้าย การลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ 

1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ  2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

      ขอแนะนำให้ประชาชน ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ หากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควร “รีบล้างแผลใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดหลายๆครั้ง ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผล อย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน และห้ามปิดแผล กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดวัคซีนให้ครบทุกเข็ม เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนกระตุ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งเฝ้าระวังโรคในสัตว์ หากพบว่าตนเองสัมผัสเสี่ยงสูงกับสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและรับให้ครบทุกเข็ม

                                                                                                                                                     อ้างอิงข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อ สคร.6 ชลบุรี


ข่าวสารอื่นๆ