สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ไม่ทันข้ามวัน อาหารบูดง่าย หน้าร้อนยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

         ช่วงหน้าร้อน อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชนป้องกันตนเองจากโรคอาหารเป็นพิษ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ดื่มน้ำสะอาด ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรค หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติไม่ควรนำมารับประทาน

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่าช่วงหน้าร้อนนี้ ความร้อนอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีถ่ายเหลว อาการมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน 

         สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 23 มีนาคม 2567 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 25,898 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลําดับ

         สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 23 มีนาคม 2567 ในพื้นที่ รอบ 8 สัปดาห์ย้อนหลัง พบผู้ป่วยจำนวน 2,382 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1,079 ราย 2) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 563 ราย 3) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 552 ราย และ 4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 188 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ สุก : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ข้าวกล่องและอาหารที่เตรียมสำหรับคนหมู่มาก เช่น อาหารกลางวันสำหรับนักเรียน อาหารกลางวันสำหรับงานประชุมต่างๆ ผู้ปรุงอาหารไม่ควรตักราดข้าว แต่ควรแยกกับข้าวบรรจุใส่ถุงต่างหาก อาหารบุพเฟ่ต์งานเลี้ยงประชุม ไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ ร้อน : อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สะอาด : บริโภคอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร  หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการท้องเสีย หรือถ่ายบ่อย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรือน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสบ่อยครั้งเพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ