ระหว่างวันที่ 23–25 เมษายน 2568 สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (OIC) นำโดย สัตวแพทย์หญิงดาริกา กิ่งเนตร ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับ คุณอุไรวรรณ กูร์โตด์ นักการทูตชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-กัมพูชา ด้านสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี พร้อมหารือแนวทางการขับเคลื่อนแผนความร่วมมือไทย-กัมพูชา ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2569–2571)
วันที่ 23 เมษายน คณะได้ประชุมร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ นำโดย พญ.จุฑารัตน์ บุตรดีขันธ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ รพ.สุรินทร์ รพ.กาบเชิง รพ.ปราสาท และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการติดตามผล 3 โครงการสำคัญ ได้แก่
1. การอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่ RRT ด้านการเฝ้าระวังและรับมือโรคติดต่อชายแดน
2. การซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากโรคอุบัติใหม่/ซ้ำ
3. การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดนแบบบูรณาการ (สุรินทร์–อุดรมีชัย)
สำหรับแผนในระยะต่อไป มีเป้าหมายพัฒนาระบบบริการร่วมกับกัมพูชา รวมถึงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการสื่อสารความเสี่ยงร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างแดน (อสต.)
วันที่ 24 เมษายน ทีมลงพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นพ.เสกสรรค์ จวงจันทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ รพ.ศรีสะเกษ รพ.ภูสิงห์ รพ.กันทรลักษ์ รพ.ขุนหาญ และด่านควบคุมโรคช่องสะงำ ร่วมนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงาน ได้แก่
1. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านระบบบัญชาการเหตุการณ์และการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ
2. การติดตามความร่วมมือฯ และเตรียมจัดเวิร์กช็อปด้านการจัดการสาธารณภัยหมู่
ทีมนิเทศฯ เห็นชอบกับแนวทางการดำเนินงาน และเสนอให้รวบรวม “บทเรียนความสำเร็จ” ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย เพื่อขยายผลเป็นแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมแผนเสริมสร้างศักยภาพ รพ.คู่มิตร พัฒนาเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่อชายแดน
วันที่ 25 เมษายน คณะได้ลงพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นพ.ชัยวัฒน์ ดาราสิชฌน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อม รพ.น้ำยืน และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 นำเสนอผลการดำเนินงานในปี 2568 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดอบรมพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค และการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรมีชัย และพระวิหาร
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดน คณะนิเทศฯ จึงเสนอให้เน้นดำเนินการเฉพาะในส่วนที่สามารถทำได้โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และเน้นย้ำว่า ความสำเร็จของความร่วมมือชายแดนต้องอาศัยระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็ง มีนโยบายระดับชัดเจน การประสานกับหน่วยงานนอกภาคสาธารณสุข และการมี “National Program Manager” ที่รับผิดชอบงานสาธารณสุขชายแดนอย่างต่อเนื่อง