กรมควบคุมโรค

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี (สคร.4 จ.สระบุรี) ร่วมน้อมลำรึกในพระมหากรุณาธิคุณ  และสืบสานพระราชปณิธานการกําจัดโรคเรื้อนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช   บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเห็นถึงปัญหาและทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกร ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียารักษาโรคเรื้อนที่ได้ผลดีทําให้ผู้ป่วยมีแผลเรื้อรังและปรากฎความพิการ ส่งผลให้ถูกสังคมรังเกียจและไม่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปผู้ป่วยโรคเรื้อนและครอบครัวจึงต้องหลบซ่อนตัว พระองค์ท่านได้พระราชทาน ทุน“อานันทมหิดล” ให้จัดสร้างสถาบันราชประชาสมาสัยและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับโครงการควบคุมโรคเรื้อนเป็นโครงการตามแนวพระราชดําริด้วยทรงมีพระราชปณิธานกําจัดโรคเรื้อนให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งได้กําหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันราชประชาสมาสัย”

ดร.แพทย์หญิงชุลีกร ธนธิติกร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี ได้กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถกําจัดโรคเรื้อนได้ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขคือ อัตราความชุกในระดับประเทศต่ํากว่า 1 ต่อประชากร 1 หมื่นคน มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันจํานวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในแต่ละปี มีจํานวนค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2561-2565 เท่ากับ 125 119 89 62 และ 73 ราย ตามลําดับ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการค้นพบผู้ป่วย โดยพบว่าแนวโน้มสัดส่วนความพิการระดับ 2 (ความพิการที่มองเห็นได้) ในผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ไม่ลดลง อยู่ในช่วงร้อยละ10-17 (สหพันธ์โรคเรื้อนนานาชาติ กําหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10) ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลระยะเวลาตั้งแต่ปรากฏอาการจนถึงได้รับการวินิจฉัย (Since of onset : SOS) โดยจะเห็นได้จากผลการประเมินงานควบคุมโรคเรื้อน ปี 2558 พบว่า มีความล่าช้าในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเฉลี่ย 39 เดือน (เป้าหมาย ไม่ควรเกิน 12 เดือน) ซึ่งความล่าช้าในการวินิจฉัยและรักษานี้อาจทําให้ผู้ป่วยเกิดความพิการจากการทําลายเส้นประสาทส่วนปลาย คือ ตา มือ เท้าทําให้สูญเสียหน้าที่การทํางาน และเป็นสาเหตุนําไปสู่การตีตราจากสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ สังคม และเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัวต่อไป

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี กล่าวต่อว่า โรคเรื้อนสามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อกันได้ยาก ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อนคือ ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่ยังไม่ได้รับการรักษา ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดโรคเรื้อนจะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คนจะมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้เพียง 3 คน โรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความพิการที่เกิดขึ้นแล้วหรือความเสี่ยงต่อความพิการในอนาคตนั้น ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมทั้งปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์อย่างเคร่งครัดก็สามารถหยุดยั้งความพิการไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้เพิ่มขึ้นได้

คําแนะนําสําหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน 1) ไปรับการรักษาตามที่แพทย์นัด และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรกใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 6 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นมากหรืออาการระยะติดต่อจะใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 2 ปี สิ่งสําคัญคือ ครอบครัวหรือคนดูแลต้องให้กําลังใจผู้ป่วยให้รับการรักษาและกินยาต่อเนื่องตามคําแนะนําของแพทย์ 2) รักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ภายนอกและลดการรังเกียจจากคนรอบข้าง ซึ่งจะส่งผลให้การตีตราลดน้อยลง 3) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย นอกจากการรับการรักษา และรับประทานยาต่อเนื่องแล้ว การสร้างภูมิต้านทานให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรงย่อมเป็นสิ่งสําคัญ  เลือกรับประทานอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง 4) ทําจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และปฏิบัติกิจวัตรประจําวันได้ตามปกติ

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422…
สคร.4 ห่วงใย อยากเห็นทุกคนมีสุขภาพดี

 

 

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ 

Facebook : https://www.facebook.com/dpc4saraburi

ผู้เรียบเรียง : นางสาวเปรมกมล ฉุนตู

15 มกราคม 2567  

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ