กรมควบคุมโรค

         วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมรณรงค์ วันมาลาเรียโลก ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด Zero indigenous malaria is possible "กำจัดมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้" เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไข้มาลาเรีย และสร้างความเชื่อมั่นในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้มาลาเรียว่า เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ที่ชอบเดินป่า มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อาการของโรคไข้มาลาเรีย คือ เมื่อผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในผู้ป่วยเด็กอาจซึม หากไปพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

         สถานการณ์ไข้มาลาเรียในประเทศไทยจากระบบมาลาเรียออนไลน์ 9 ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 2,810 ราย (น้อยกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 483 ราย) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ที่จังหวัดชุมพร) กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ 25 – 44 ปี รองลงมาคือ 15 - 24 ปี และ 5 - 14 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดตาก รองลงมา คือ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

         สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2567 มีผู้ป่วย 2 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 1 ราย อายุ 55 ปี อาชีพนักวิจัย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1 ราย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้างก่อสร้าง ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วน จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุรินทร์ ยังไม่มีรายงานการผู้ป่วย และเสียชีวิต

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย 10 - 14 วัน แล้วมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้และเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอนคือ การเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะ ในพื้นที่ให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน เร่งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ 1-3 -7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ และสำหรับประชาชนเมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง เมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง โดยมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด รวมทั้งนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ